ข้อบังคับสมาคม

ข้อบังคับ
สมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช  พ.ศ. ๒๔๙๘
(แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๔๕ และพ.ศ. ๒๕๕๓)

หมวด ๑
ความทั่วไป
นิยามศัพท์
(๑)  สมาคม      หมายถึง  สมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช
(๒) กรรมการ   หมายถึง  กรรมการสมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช
(๓) โรงเรียน     หมายถึง  โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช
(๔) การจดทะเบียน หมายถึง การจดทะเบียนสมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช
ต่อนายทะเบียนจังหวัดนครศรีธรรมราช
(๕) เจ้าหน้าที่   หมายถึง  เจ้าหน้าที่ที่กรรมการสมาคมแต่งตั้งให้ทำหน้าที่กิจการใดกิจการหนึ่งของ สมาคม
ข้อ ๑    สมาคมนี้มีชื่อเรียกว่า    สมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชูทิศนครศรีธรรมราช      ใช้อักษรย่อว่า...” มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า  Benjamarachutit Nakhonsrithummarat Alumni Association  ใช้อักษรย่อว่า  “B.A.A.”
ข้อ ๒   สมาคมมีสีม่วงขาวเป็นสัญลักษณ์ สำหรับเครื่องหมายสมาคมมีลักษณะเป็นวงกลมสองชั้น ภายใน  วงกลมชั้นในมีพื้นสีม่วง มีมงกุฎ ๕ สีแดง อยู่ตรงกลางใบโพธิ์สีขาว ภายในวงกลมชั้นนอก มีอักษรย่อว่า ส... อยู่ด้านบน มีคำว่าสมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช  อยู่ด้านล่างเป็นตัวหนังสือสีม่วงบนพื้นสีขาว
ข้อ ๓   สำนักงานของสมาคม ตั้งอยู่ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช   ถนนนาพรุ-ปากพูน  ตำบล โพธิ์เสด็จ   อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000

               หมวด ๒
วัตถุประสงค์

ข้อ ๔    วัตถุประสงค์ของสมาคมเพื่อ
            (๑)    ดำเนินกิจกรรมของสมาคมศิษย์เก่าเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช
         (๒)   สนับสนุนการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
            (๓)    สนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียน
            (๔)    ส่งเสริมการกีฬาและพลานามัย
            (๕)    ส่งเสริมศีลธรรม  วัฒนธรรมและประเพณี
            (๖)    ส่งเสริมความสามัคคีและอุปการะซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิก
            (๗)    ส่งเสริมกิจกรรมสาธารณประโยชน์โดยทั่วไป
            (๘)    ไม่ดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง

หมวด ๓
การเป็นสมาชิกของสมาคม สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

ข้อ     สมาชิกของสมาคมมี   ประเภท คือ
         (๑)    สมาชิกสามัญ ได้แก่ ศิษย์เก่าและครูอาจารย์ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศทั้งอดีตและปัจจุบัน ซึ่งสมาคมได้รับเป็นสมาชิก
         (๒)   สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ หรือทรงเกียรติ หรือผู้มีอุปการะคุณแก่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช   ซึ่งคณะกรรมการลงมติเชิญเป็นสมาชิกของสมาคม
ข้อ ๖    คุณสมบัติของสมาชิก
            (๑)    เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
         (๒)   ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเป็นผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้น ความผิดฐานประมาทหรือลหุโทษ
ข้อ ๗    ค่าบำรุงสมาคม
            (๑)    สมาชิกสามัญ   ชำระค่าบำรุงสมาคมตลอดชีพ  จำนวน ๒๐๐ บาท
            (๒)   สมาชิกกิตติมศักดิ์  ไม่ต้องชำระค่าบำรุงสมาคม
ข้อ ๘    ผู้สมัครเป็นสมาชิกสามัญของสมาคม ต้องยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคม พร้อมชำระค่าบำรุง สมาคมต่อนายทะเบียนสมาคม     เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ สมาชิกภาพจะเกิดขึ้นเมื่อนายทะเบียน
จดแจ้งการเป็นสมาชิกลงในสมุดทะเบียน
ข้อ ๙    สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับหนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่
            คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้เชิญเป็นสมาชิกของสมาคม
ข้อ ๑๐  การสิ้นสุดสมาชิกภาพ
            (๑)    ตาย
            (๒)   ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อนายทะเบียน
            (๓)    ขาดคุณสมบัติตามข้อ ๖
            (๔)    ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมหรือคณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้ออก
            (๕)    สมาชิกภาพของสมาคมกิตติมศักดิ์ สิ้นสุดลงตามวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการ
                     ของสมาคม
ข้อ ๑๑  สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
             (๑)   มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม
            (๒)   มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน
            (๓)    มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ
            (๔)    มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
            (๕)    มีสิทธิเข้าร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
            (๖)    มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีสินทรัพย์ของสมาคม
            (๗)    สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้งหรือได้รับการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง  เป็นกรรมการสมาคม
                     และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุม
            (๘)    สมาชิกสามัญมีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อยจำนวน ๑๐๐ คน ร้องขอต่อคณะกรรมการ ให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
            (๙)    มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด
            (๑๐) มีหน้าที่ประพฤติตนให้เหมาะสมกับการเป็นสมาชิกของสมาคม
            (๑๑) มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ของสมาคม
            (๑๒)    มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

หมวด ๔
การดำเนินกิจการของสมาคม
ข้อ ๑๒    ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง จำนวนไม่น้อยกว่า ๓๑ คน แต่ไม่เกิน ๔๑ คน  มีที่มาดังนี้
(๑)                 กรรมการที่มาจากการเลือกตั้งโดยที่ประชุมใหญ่สมาคม จำนวนไม่น้อยกว่า ๑๕ คน แต่ไม่
         เกิน ๒๐ คน  จากศิษย์เก่ารุ่นต่างๆ ไม่เกินรุ่น ๒ คน หรือสมาชิกสามัญตามข้อ ๕(๑)
(๒)             กรรมการที่มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบัน  สรรหาจากศิษย์เก่าซึ่ง
เป็นสมาชิกของสมาคมไม่เกิน ๑๐ คน เป็นคณะกรรมการแล้วเสนอให้ที่ประชุมใหญ่สามัญ
                        ประจำปี เพื่อทราบ
(๓)              ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดนครศรีธรรมราช  เป็นอุปนายกคนที่ ๑  โดยตำแหน่ง
(๔)              คณะกรรมการ (๑) (๒) และ (๓)  เลือกตั้งกันเองเป็นนายก ๑ คน  และสรรหาศิษย์เก่าเป็นคณะกรรมการเพิ่มเติมอีกไม่เกิน ๑๐ คน  โดยให้คณะกรรมการเลือกตั้งกันเองเป็นอุปนายกและกรรมการอื่นๆ ตามสมควร
            คณะกรรมการต้องส่งหลักฐานการจดทะเบียนกับนายทะเบียนสมาคมจังหวัด ภายใน ๑๕ วัน นับจากวันประชุมคณะกรรมการตามข้อ ๑๒(๔)
กรรมการสมาคม   มีตำแหน่งและหน้าที่ดังนี้
        (๑)      นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคม เป็นผู้แทนสมาคมในการติดต่อ
                              กับบุคคลภายนอก ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมคณะกรรมการและการประชุมใหญ่ของสมาคม
        (๒)     อุปนายกสมาคม  ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการสมาคม    ปฏิบัติภารกิจตามที่
                    นายกสมาคมมอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติ
                    หน้าที่ได้ และการทำหน้าที่แทนนายกสมาคมให้อุปนายกสมาคมตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำแทน
        (๓)     เลขานุการ  ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด   เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ในงานธุรการของ
สมาคมและปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคมรวมทั้งทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่างๆ ของ  สมาคม
        (๔)     เหรัญญิก  มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย บัญชีงบดุลของ  สมาคม และเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับการเงินของสมาคม
        (๕)     ปฏิคม ทำหน้าที่ในการต้อนรับแขกและจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่างๆ ของสมาคม
        (๖)      นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกของสมาคมประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงิน  ค่าบำรุงสมาคมพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกสามัญตามข้อ ๘ และต้องแจ้งผลการพิจารณา
                    ภายใน ๗ วัน
        (๗)     ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้เป็นที่รู้จักโดยแพร่หลาย
        (๘)     กรรมการตำแหน่งอื่นๆ    คณะกรรมการสมาคมตำแหน่งอื่นที่มิได้ระบุไว้ข้างต้น   และคณะกรรมการ
                    เห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้นตามความเหมาะสมโดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้อ ๑๒
                      จะต้องไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งให้ถือเป็นกรรมการกลาง
ข้อ ๑๓    คณะกรรมการสมาคมมีวาระการดำรงตำแหน่งละ ๒ ปี  ไม่เกิน ๒ วาระติดต่อกัน  คณะกรรมการชุดเก่าต้องส่งมอบงานให้แก่คณะกรรมการชุดใหม่อย่างเป็นทางการภายในเดือนสิงหาคม     ทั้งนี้ให้กรรมการชุดเก่ารักษาการจนถึงวันส่งมอบงาน
                        คณะกรรมการที่ตำรงตำแหน่ง ๒ วาระติดต่อกันแล้ว  สามารถเป็นกรรมการต่อไปได้แต่
            ต้องต่างที่มากัน
ข้อ ๑๔ ถ้าตำแหน่งกรรมการบริหารสมาคมว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระ     ให้คณะกรรมการแต่งตั้ง
กรรมการคนใดคนหนึ่งดำรงตำแหน่งแทน  กรณีตำแหน่งกรรมการว่างลง คณะกรรมการที่เหลือไม่ครบจำนวนตามข้อ ๑๒ ให้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการให้ครบจำนวนตามข้อ ๑๒ กรรมการที่ได้รับเลือกเข้ามาใหม่ให้ดำรงในตำแหน่งตามวาระที่เหลืออยู่           กรณีคณะกรรมการ สมาคมเห็นว่าวาระที่เหลืออยู่ดังกล่าวตามวรรค ๒ ไม่ถึง ๖ เดือน และคณะกรรมการที่เหลืออยู่เกินจำนวนองค์ประชุมที่มีอยู่เดิมและดุลยพินิจของคณะกรรมการเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งสมาคมแล้ว ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้     คณะกรรมการจะไม่จัดให้มีการเลือกตั้งดังกล่าวในวรรค ๒  ก็ได้
ข้อ ๑๕  กรรมการพ้นจากตำแหน่งซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระเมื่อ
            (๑)    ตาย
            (๒)   ลาออก
            (๓)    ขาดจากสมาชิกภาพ
            (๔)    ที่ประชุมมีมติให้ออก
ข้อ ๑๖  กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อนายกสมาคมและให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติให้ออก
ข้อ ๑๗ อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ
(๑)    มีอำนาจออกระเบียบต่างๆ เพื่อการบริหารกิจการของสมาคม ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับฉบับนี้
            (๒)   มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
            (๓)    มีอำนาจแต่งตั้งหรือจัดจ้าง กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการได้แต่กรรมการที่ปรึกษาหรือ
                     อนุกรรมการอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของกรรมการที่แต่งตั้ง
             (๔)   มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่ประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
             (๕)   มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆที่ยังมิได้กำหนดในข้อบังคับนี้
            (๖)    มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆ 
                     ตามที่ข้อบังคับกำหนดไว้
            (๗)    มีหน้าที่แต่งตั้งอนุกรรมการจากตัวแทนศิษย์เก่าที่เป็นสมาชิกรุ่นต่างๆ รุ่นละหนึ่งคน
            (๘)    มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการของสมาคม รวมทั้งการเงินและสินทรัพย์ทั้งหมดของสมาคม
(๙)    มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญตามข้อ ๑๑() ตามที่สมาชิกสามัญร้องขอภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
(๑๐)  มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน สินทรัพย์ และการดำเนินกิจกรรม ต่างๆ ของสมาคม ให้ถูกต้องและสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
             (๑๑) มีหน้าที่จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆ ของสมาคมเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
             (๑๒)   มีหน้าที่อื่นๆ ตามที่ข้อบังคับกำหนดไว้
ข้อ ๑๘ คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอย่างน้อยปีละ ๖ ครั้ง
ข้อ ๑๙  การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าประชุม ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด  จึงถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ ๒๐ ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้   ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกรรมการคนใดคนหนึ่ง
ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคราวนั้น

หมวด ๕
การประชุมใหญ่
ข้อ ๒๑    การประชุมใหญ่สมาคม คือ
               (๑)    ประชุมใหญ่สามัญ
               (๒)   ประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ ๒๒   คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการการประชุมใหญ่สามัญประจำปี อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง ภายในเดือนกรกฎาคม เมื่อครบกำหนดวาระของกรรมการแล้วแต่คณะกรรมการไม่จัดให้มีการประชุมใหญ่ สามัญประจำปี    ให้บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช เรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี  เพื่อให้มีคณะกรรมการชุดใหม่  ตามหมวด ๔ ข้อ ๑๒
ข้อ ๒๓         การประชุมใหญ่วิสามัญนอกจากการประชุมตามข้อ ๑๑() หากคณะกรรมการเห็นสมควร ให้มีการประชุมใหญ่ ให้สามารถเรียกประชุมได้
ข้อ ๒๔   การประชุมใหญ่ ให้นายกสมาคมหรือเลขานุการ เป็นผู้ชี้แจงกำหนดการประชุมใหญ่ให้สมาชิกทราบเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลา สถานที่และวาระการประชุมให้ชัดเจน ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน และประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ ที่เห็นสมควร
                     กรณีที่สมาชิกร้องขอให้เรียกประชุมตามข้อ ๑๑()   ถ้าคณะกรรมการสมาคมไม่เรียกประชุม ภายในกำหนด ๓๐ วัน สมาชิกที่เป็นผู้ร้องขอให้เรียกประชุมหรือสมาชิกอื่นรวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน มีสิทธิเรียกประชุมเอง
ข้อ ๒๕   การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้
               (๑)    รับรองรายงานการประชุมครั้งที่ผ่านมา
               (๒)   แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
               (๓)    แถลงบัญชีรายรับ-รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมา
               (๔)    เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เมื่อครบกำหนดวาระ
               (๕)    เลือกตั้งผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และกำหนดค่าตอบแทน
               (๖)    เลือกตั้งผู้ตรวจสอบการเงินและสินทรัพย์จำนวน ๓ คนที่ไม่ใช่กรรมการปีละ ๑ ครั้ง
               (๗)    เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)
ข้อ ๒๖    ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีหรือการประชุมใหญ่วิสามัญ จะต้องมีสมาชิกเข้าร่วมประชุม
               ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง หรืออย่างน้อย ๑๐๐ คน   จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม   แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนด
               เวลาประชุมยังมีสมาชิกสามัญ เข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม  ก็ให้ขยายเวลาออกไปอีก ๖๐
               นาที แต่เมื่อครบกำหนดเวลาที่ขยายออกไปแล้ว    ยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์
               ประชุม  ก็ให้เลื่อนประชุมคราวนั้นไป   และจัดประชุมใหม่อีกครั้งหนึ่งหลังจากเวลาได้ล่วงเลย
               มาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน แต่จะต้องไม่เกิน ๔๕ วัน     นับแต่วันที่ได้เลื่อนการประชุมครั้งแรก
               สำหรับการประชุมครั้งนี้ ถ้ามีสมาชิกเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใดให้ถือว่าครบองค์ประชุม
ยกเว้น ถ้าการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิก ก็ไม่ต้องจัด
ประชุมใหญ่ ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก
ข้อ ๒๗   การลงมติต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก   หากคะแนนเสียงเท่ากัน  ให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ ๒๘   ในการประชุมใหญ่ของสมาคม    ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่สามารถเข้าร่วมประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งที่หน้าที่เป็นประธานการประชุมคราวนั้น

หมวด ๖
การเงินและสินทรัพย์

ข้อ ๒๙   การเงินและสินทรัพย์ทั้งหมด ให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคม ถ้ามีให้ฝากไว้ในธนาคารใดธนาคารหนึ่ง  ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช   ตามแต่คณะกรรมการจะเห็นสมควร
                       สมุดบัญชีและเอกสารให้เก็บไว้ที่สมาคมและอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของอุปนายกคนที่ ๑
ข้อ ๓๐    การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม    จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทนลงนามร่วมกับเหรัญญิกหรือเลขานุการ   กับประทับตราของสมาคม จึงจะถือว่าถูกต้อง
ข้อ ๓๑    ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมตามวัตถุประสงค์  ได้ครั้งละไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท(สามหมื่นบาท)   ถ้าเกินกว่านั้น ให้คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาอนุมัติเป็นคราวๆ ไป ไม่เกินครั้งละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาท)  ยกเว้นโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของสมาคมแล้ว นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายได้เต็มจำนวนที่อนุมัติ
ข้อ ๓๒   ให้เหรัญญิก มีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมเพื่อสำรองจ่าย ได้ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นบาท)   ถ้าเกินจำนวนนี้จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคม
ข้อ ๓๓    เหรัญญิกจะต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และบัญชีงบดุลให้ถูกต้อง โดยมีวันสิ้นรอบบัญชีในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม    และการรับหรือจ่ายเงินทุกครั้งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  ลงลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทน   พร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง
   ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตจะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่สมาคม
   ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต    มีอำนาจที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและสินทรัพย์   จากคณะกรรมการ  และสามารถเรียกกรรมการหรือเจ้าหน้าที่สมาคมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชี และสินทรัพย์ของสมาคมได้
ข้อ ๓๔    คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และให้ความร่วมมือกับ
               ผู้ตรวจสอบการเงินและสินทรัพย์ เมื่อได้รับการร้องขอ

หมวด ๗
การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม
ข้อ ๓๕    การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับของสมาคม จะกระทำได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้นและจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด
ข้อ ๓๖    เมื่อสมาคมต้องเลิกไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม  สินทรัพย์ของสมาคมที่เหลืออยู่  หลังจากได้ชำระ
               บัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ให้ตกเป็นของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช

หมวด ๘
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๓๗    ข้อบังคับของสมาคมฉบับนี้   มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่นายทะเบียนสมาคมจังหวัดอนุญาตให้จด ทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นต้นไป
ข้อ ๓๘    ให้ยกเลิกข้อบังคับของสมาคมฉบับเดิมทั้งหมด และให้ใช้ข้อบังคับฉบับนี้แทน
ข้อ ๓๙    การตีความในข้อบังคับของสมาคม หากเป็นที่สงสัยให้นายกสมาคมเป็นผู้ชี้ขาด